ดนตรีบำบัด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงเพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เคยหรือไม่? ระหว่างที่คุณกำลังเดินทางไปทำงาน คุณมักจะเปิด Playlist เพลงที่ชื่นชอบและฟังเพลงเหล่านั้น หรือ เมื่อคุณอยู่ในห้วงของความรัก คุณมักจะเพลงฟังเพลงรักแล้วนึกถึงประสบการณ์แสนหวานกับคนรู้ใจของคุณ ดนตรีไม่เพียงแต่ช่วยให้ความผ่อนคลายหรือให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสตร์ทางเลือกสำหรับการบำบัดจิตใจ ร่างกาย และสังคมได้อีกด้วย
หลายครั้งที่ดนตรีถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เรียกว่า ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ในการเยียวยาบำบัดโรค โรคในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งโรคทางกาย และโรคทางจิตใจ เมื่อนำดนตรีมาเป็นทางเลือกในการรักษาโรคอย่างจริงจรัง พบว่าดนตรีช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น อีกทั้งยังยังลดการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม แก้ปมปัญหาภายในจิตใจ และยังสร้างเสริมอารมณ์เชิงบวกได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้องค์ประกอบต่างๆของดนตรีมีผลในด้านจิตวิทยาและการทำงานโดยตรงของสมอง วันนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงองค์ประกอบต่างๆ ทางดนตรีว่ามีผลต่อการบำบัดโรคได้อย่างไรบ้าง
จังหวะดนตรี (Rhythm)
จังหวะของดนตรีช่วยให้ผ่อนคลาย (Relax) และช่วยสร้างเสริมสมาธิ (Concentration) หากเพลงนั้นมีความเร็วในจังหวะ 70-80 ครั้ง/นาที (เท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจ) จะช่วยให้คนฟังรู้สึกสงบและผ่อนคลาย หากความเร็วช้ากว่าอัตราการเต้นของหัวใจ (40-60 ครั้ง/นาที) จะทำให้คนฟังรู้สีกไม่มั่นคงหรือวิตกกังวลได้ หากความเร็วมากกว่าอัตราการเต้นของหัวใจ ( มากกว่า 80-90 ครั้ง/นาที) คนฟังก็อาจรู้สึกตึงเครียดได้เช่นกัน
ระดับเสียง (Pitch)
ระดับเสียงเกิดจากเสียงต่ำ หรือเสียงสูงเกิดการผสมผสานกัน เสียงในระดับต่ำ และระดับสูงปานกลาง จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบและลดความวิตกกังวลลงได้
ความดัง (Volume/ Intensity)
เสียงที่เบานุ่มจะทำให้เกิดความสงบสุข สบายใจ ในขณะที่เสียงดังทำให้เกิดการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อได้ ความดังที่เหมาะสมจะช่วยสร้างระเบียบการควบคุมตนเองได้ดี มีความสงบ และเกิดสมาธิ
ทำนองเพลง (Melody)
ท่วงทำนองช่วยให้เกิดการระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และลดความวิตกกังวล
การประสานเสียง (Harmony)
เสียงประสานเป็นทำนองตั้งแต่สองแนวขึ้นไป นำมาขับร้องหรือบรรเลงในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความไพเราะ มีส่วนช่วยในการวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้ โดยดูจากปฏิกิริยาที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่าง ๆ จากบทเพลง
ดนตรีบำบัดอาจไม่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคนั้น ๆ แต่เป็นการช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและลดความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความเครียดจากการใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ หรือปัจจัยด้านสังคมต่าง ๆ อาจรับมือกับภาวะทางอารมณ์ได้ยาก เพียงแค่เปิดเพลงที่คุณชอบก็เสมือนได้ยาดีที่ช่วยกล่อมเกลาและเยียวยาบาดแผลทางใจได้เช่นกัน